ปฏิเสธบ้างก็ได้ ถ้าไม่ไหวจริง ๆ
ใครเป็นมนุษย์ ได้ค่ะ/ ได้ครับ ทั้งที่อยากบอกว่าไม่ได้หรือเคยมีประสบกาณณ์ลบ ๆ จากการช่วยเหลือ เพราะคนที่พูดได้ค่ะ/ครับมาตลอด เหตุเพราะเกรงใจ ไม่กล้าปฏิเสธ ทั้งที่ในใจบอกว่าไม่ไหว
สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ได้รับการเรียกใช้ตลอดเวลา หนักเข้าเริ่มรู้สึกว่างานโหลดเกินตัว บริหารเวลาไม่ได้ วันดีคืนดี หัวหน้าว่า ทำไมไม่ทำงานตัว ทำแต่งานชาวบ้าน เชิง งานน้อยไปหรือ ถึงได้ไปช่วยคนอื่น งานที่รับมา พอทำได้ช้า ก็กลับโดนฝ่ายที่ขอให้ช่วยตอกกลับว่า งานยังไม่เสร็จอีกหรือ เหมือนหนึ่งเป็นงานหลักที่ต้องทำ เพราะเคยมีประสบกาณณ์ลบ ๆ จากการช่วยเหลือ ไม่กล้าบอกปฏิเสธ จึงอาจทำให้รู้สึกแย่กับตัวเองว่าทำไมโดนใช้ตลอด มีแต่คนเอาเปรียบ ทั้งที่งานตัวเองก็ไม่เสร็จ และหลายครั้งงานที่รับปากก็ทำให้เขาไม่ได้ จนโดนตำหนิ
กลไกการป้องกันตัวเองจึงเริ่มทำงานด้วย 2 ทางหลัก คือ ไม่ยุ่ง ไม่สุงสิง ไม่ช่วย กลายเป็นคนใจดำ เห็นแก่ตัว เพราะบาดเจ็บจากการช่วยเหลือ หรือ ใช้วิธีทำตัว วุ่น ยุ่ง ตลอด มีข้ออ้างสารพัด เพื่อไม่ให้ใครกล้าเข้ามาขอความช่วยเหลือ
วิธีการที่พึงกระทำมากกว่า รวมถึงเป็นการฝึกพัฒนาตนเอง คือ การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เมื่อมีคนมาขอความช่วยเหลือ แต่ยังไม่พร้อม มีความจำเป็นต้องปฏิเสธความช่วยเหลือ สามารถจะทำได้ดังนี้
1. รับฟังหัวข้อ/เรื่องที่อีกฝ่ายต้องการให้ช่วยเหลือก่อน
รวมถึงเวลาที่ต้องใช้ อย่าเพิ่งตอบรับว่าได้หรือไม่ได้ทันที
2. ประเมินตนเองจากสภาวะปัจจุบัน
โดยคำนึงถึงงานที่ต้องรับผิดชอบปัจจุบัน เวลาที่ใช้ รวมถึงความสามารถหรือศักยภาพที่จะช่วยเหลือได้
3. ประเมินความซับซ้อนของงาน และเวลาที่ต้องใช้
ถ้าประเมินแล้วสามารถช่วยเหลือได้ ก็รับปากช่วยได้ หากประเมินแล้วไม่มั่นใจพอ ให้ใช้การสื่อสารด้วยเจตนาอยากช่วยก่อน เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ถูกปฏิเสธ จากนั้น ให้บอกเหตุผลและความจำเป็น ว่ามีภาระงานใดที่ต้องรับผิดชอบหรือค้างอยู่ พร้อมระยะเวลา เช่น อยากช่วยนะ แต่ตอนนี้มีงานที่ต้องอยู่ ซึ่งจะเสร็จวันศุกร์นี้
4. แจ้งเงื่อนไขโดยบอกขอบเขตงานและเวลาที่จะช่วยเหลือได้
เพื่อให้เห็นความชัดเจนว่าจะเข้าไปช่วยในเรื่องใดและมีเวลาที่ให้ได้เพื่อช่วยเหลือมากน้อยเพียงใด เช่น สามารถช่วยเรื่อง (ขอบเขตงาน) ได้และจะช่วยได้ (บอกระยะเวลาที่สามารถให้ได้) หากไม่สามารถช่วยได้จริงในเชิงการลงมือทำ อาจใช้การเสนอทางเลือกอื่นเพื่อให้แนวทางกับผู้ขอ
5. การให้ข้อเสนอแนะหรือทางเลือกอื่น
ถือเป็นการช่วยเหลือในอีกทางหนึ่งเช่นกันและแสดงถึงเจตนาว่าอยากช่วยเหลือ เช่น เรื่องนี้ ลองปรึกษา ลองหาข้อมูลที่ดู เผื่อจะช่วยได้
6. รักษาความสัมพันธ์ที่ดีก่อนจบบทสนทนา
เช่น คราวหน้า ถ้ามีอะไรที่สามารถช่วยได้ และไม่ชนกับงานหลักที่ทำอยู่ ยินดีให้ความช่วยเหลือนะ ครั้งนี้ คงช่วยคิดไอเดีย คิดหาคนให้ปรึกษา / หาทางเลือกอื่นๆ ได้เป็นแนวทาง
คนที่พูดปฏิเสธไม่เป็น ลองนำ 6 ขั้นตอน ไปปรับประโยคให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อจะได้ไม่ต้องรู้สึกผิด หรือรู้สึกอึดอัด เมื่อมีใครมาขอให้ช่วยแล้วเรายังไม่สามารถช่วยได้จริง ๆ
Author
ผศ.ดร.จิตรา ดุษฏีเมธา
อาจารย์มหาวิทยาลัย
นักจิตวิทยา
Senior Action Learning Coach
TPS Master Facilitator
Artwork: Jutha.J