ยิ่งพูด ยิ่งท้อ คำพูดสุดบั่นทอนที่หยุดได้ให้รีบหยุุด!
เบื่อ เซ็ง เครียด ไม่ไหว เหนื่อย !!
เหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต พฤติกรรมทุกอย่างที่แสดงออก มีความหมายและสร้างการเรียนรู้ให้กับคนเราได้เสมอ ถ้าเพียงเราได้ทบทวน ไตร่ตรองและค้นหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวนั้นได้
ในยุคนี้ เราอาจจะได้ยินคนรอบข้างพูดคำที่สะท้อนอารมณ์ (ทางลบ) ออกมาบ่อย ๆ เป็นคำพูดติดปากในการสนทนา เช่น คำว่า เบื่อ เซ็ง เครียด เหนื่อย
เบื่อ.. ไม่รู้จะทำอะไรดี น่าเบื่อ!
เซ็ง.. เจอแบบเดิมๆ โดนแบบเดิมๆ
โอ๊ย.. เครียดมาก วุ่นวายไปหมด
ไม่ไหว.. เหนื่อย พอแล้ว! ไม่ทำแล้ว!
คำพูดของที่พูดติดปากในแต่ละวันหรือความคิดที่แวบขึ้นมาในสมองเราบ่อย ๆ กำลังส่งสัญญาณอะไรบางอย่างกับเรา หากเพียงเราฟังเสียงหรือประโยคคำพูดเหล่านั้น เราอาจจะพบความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำพูดด้านลบเหล่านั้น ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเรา เราถึงมีพฤติกรรมเช่นนั้น มันกำลังบอกหรือสะท้อนอะไรได้บ้าง
เป็นไปได้ไหมว่า เราซึมซับคำพูดเหล่านั้นเพราะได้ยินคนรอบตัวพูดวลี หรือประโยคนั้นอยู่บ่อย ๆ ดังนั้น เมื่อเจอกับสถานการณ์ที่ไม่ชอบ เราจึงใช้คำพูดในลักษณะเดียวกันว่า เบื่อ เซ็ง หรือเมื่อใครเอ่ยถามว่าชีวิตช่วงนี้เป็นอย่างไร ก็พูดจะตอบทำนองว่า โอ๊ย เหนื่อย เครียด ยุ่งมาก ทั้งที่ความจริงอาจไม่ได้รู้สึกเท่าที่พูดออกไป แต่พูดเพราะซึมซับคำเหล่านี้มาโดยไม่รู้ตัว
หากเป็นเช่นนี้ ให้ทบทวนด้วยคำถาม 2 คำถามแรกว่า
จริงหรือที่เรารู้สึกแบบนั้น?
เราอยากรู้สึก/เป็นแบบนั้น จริง ๆ หรือ?
เพื่อให้เราได้ทบทวนว่าที่เราพูดเช่นนี้ เป็นเพราะเราเผลอเลียนแบบคำพูดคนรอบข้างหรือไม่ และเราอยากรู้สึก อยากเป็นเช่นนั้นหรือไม่ จากนั้นให้เริ่มลองสังเกตคำพูดของคนรอบข้างและสังคมแวดล้อมรอบตัวว่ามีใครบ้างที่พูดคำพูดทำนองนี้ ถ้าพบว่าคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มพูดคำพูดในลักษณะนี้ เราควรตั้งคำถามถามตัวเองว่า เราจะปล่อยตัวเราให้ซึมซับคำพูดแย่ ๆ หรือ เราจะเลือกคำพูดใหม่ที่สร้างพลังกับตนเองดีกว่า?
เพียงสังเกตคนอื่น และสำรวจตนเอง จะทำให้เราได้ทบทวนและเลือกว่าเราจะยังอยากใช้คำพูดแบบเก่าต่อ หรือเราจะเลือกคำพูดใหม่เพื่อให้เราเองออกจากความรู้สึกที่ไม่ได้ต้องการให้เกิดขึ้นกับตัวของเราด้วยการสร้างวลีหรือประโยคคำพูดใหม่ เช่น
ใช้คำว่า หาอะไรทำดีกว่า แทนการพูดว่า เบื่อ เซ็ง ไม่รู้จะทำอะไร
พักแป๊บ ให้หายเหนื่อย จะได้มีแรงสู้ต่อ แทนคำว่า เหนื่อย ไม่ไหวแล้ว ไม่ทำแล้ว
ค่อย ๆ สะสางไปทีละสิ่ง จัดลำดับงานทำก่อนดีกว่า หรือ ค่อยๆ ทำไป เดี๋ยวก็เสร็จ แทนคำว่า ยุ่งมากเลย
ฝึกไปวันละนิด หรือ ทุกครั้งที่จำได้ หากได้ทำไปเรื่อย ๆ ระดับความเข้มข้น และความถี่ของคำพูดที่สร้างความรู้สึกลบเหล่านี้จะค่อย ๆ จางลงไปได้
Author
ผศ.ดร.จิตรา ดุษฏีเมธา
อาจารย์มหาวิทยาลัย
นักจิตวิทยา
Senior Action Learning Coach
TPS Master Facilitator
Artwork: Jutha.J