แชร์

กริบ...ความเงียบที่บั่นทอนศักยภาพตนและทีม

อัพเดทล่าสุด: 18 ธ.ค. 2024
51 ผู้เข้าชม

ทีมที่ทำงานได้ไม่สำเร็จตามเป้า ผลงานไม่โดดเด่น มีลักษณะการทำงานในรูปแบบเดิม ๆ ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่ค่อยเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการทำงาน

คนในทีมเงียบ...

สถานการณ์เช่นนี้ บางครั้งไม่ได้เกิดมาจากคนในทีมไม่มีประสิทธิภาพ แต่มีสาเหตุมาจาก 'ความกลัว'

ความกลัว..สร้างให้เกิดบรรยากาศ 'กริบ' ในที่ทำงาน
'กริบ' หมายถึง เงียบมาก ไม่มีเสียงใด ๆ

ไม่กล้าถาม..กลัวจะถูกมองไม่ดี หรือเสียเวลาคนอื่น
ไม่กล้าเสนอความเห็น..กลัวจะไม่ได้รับการยอมรับ
ไม่กล้าตัดสินใจ..กลัวผลจะออกมาไม่ดี
ไม่กล้าเสี่ยงริเริ่มทำสิ่งใหม่..เพราะกลัวล้มเหลว
ไม่กล้าบอกข้อสังเกตที่ตนเองเห็นในปัญหา..
กลัวว่าคนอื่นจะมองว่ามองโลกแง่ร้าย มือไม่พายยังเอาเท้าราน้ำ

ไม่มีใครมองเห็นความกลัวว่าหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะความกลัวจะปรากฎตัวผ่านการแสดงออกของคนที่เปิดรับความกลัวให้เข้ามาอยู่ในความคิดของตนเอง

ถ้าระดับความกลัวอยู่ในระดับที่พอดี จะสร้างให้เกิดความเครียดเล็ก ๆ ที่จะส่งแรงขับทำให้เกิดความกระตือรือร้น ปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบ พยายามฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ

ถ้าระดับความกลัวอยู่ในระดับที่มากเกินจะเป็น 'ภัยเงียบ' สถิตย์อยู่ในความคิดความรู้สึกของบุคคลนั้น ปิดกั้นศักยภาพและความสามารถที่แท้จริง ปรากฏเป็นอาการรูปแบบต่าง ๆ ผ่านพฤติกรรมการแสดงออก ซึ่งพฤติกรรมที่มักเห็นได้บ่อยครั้ง คือ อาการกริบนั่นเอง

ยิ่งกริบนานเท่าใด จะส่งผลเสียมากขึ้นเท่านั้น เพราะหากปล่อยพฤติกรรมกริบให้แสดงออกบ่อยครั้งจะทำให้บุคคลสร้างการรับรู้ที่บิดเบือน ด้อยค่าตัวเอง

ส่งผลทำให้คนในทีมเริ่มเข้าใจผิดว่าไม่ให้ความร่วมมือ ไม่มีส่วนร่วม เห็นแก่ตัว ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานด้วยเช่นกัน

ผลกระทบที่จะตามมา คือ เราจะเริ่มเกิดความรู้สึกแปลกแยก ไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม กดดันตนเอง เบื่อการทำงาน ความตั้งใจในการทำงานลดลง ทำงานไม่เต็มศักยภาพ จึงอาจเกิดข้อผิดพลาดในการทำงานได้ง่าย

เมื่อถูกตำหนิบ่อยครั้งขึ้น ย่อมจะทำให้เสียความรู้สึก จึงยิ่งกริบมากขึ้น หรือกลับเปลี่ยนเป็นความก้าวร้าวเงียบเข้ามาผสมโรง

เมื่อเก็บและกดเข้าบ่อยครั้ง จนเกิดความคับข้องใจจนใส่อารมณ์กันได้ ความชั่ววูบทางอารมณ์ อาจส่งผลให้เสียสัมพันธภาพ เสียการเสียงาน เสียภาพลักษณ์ส่วนบุคคล ทีม และองค์กร

นอกจากนี้ หากปล่อยไว้เนิ่นนาน ความกริบ อาจพาไปสู่ความ 'ก้าวร้าว' ได้ในที่สุด

การแทนที่ความกลัว และพฤติกรรมกริบสามารถทำได้โดยใช้ความกล้า และการให้ค่าในตัวเราเองไปทีละนิด กล้าในพื้นที่เล็ก ๆ กับกลุ่มคนที่วางใจได้ กล้าคิด กล้าเสนอ กล้าแสดงความรู้สึก กล้าเสี่ยง กล้าตัดสินใจ เพื่อสร้างความมั่นใจ แล้วจึงค่อยไต่ระดับไปสู่กลุ่มที่เป็นทางการ

ใช้ความกล้า ๆ กลัว ๆ นั้นเอาชนะตัวเอง เริ่มจากการกล้าแสดงความเห็นด้วยกับกลุ่มเพื่อเพิ่มความมั่นใจในตัว แล้วค่อย ๆ ไต่ระดับเป็นการกล้าแชร์ไอเดีย/ประสบการณ์
กล้าขอฟีดแบ็กกับคนสนิทเพื่อพัฒนาตนเอง กล้าเดินเข้าไปถามเพื่อขอความรู้

ทีมงานเองก็สามารถช่วยคนในทีมให้คลายจากความกริบได้โดยสร้างบรรยากาศให้คนในทีมรู้สึกปลอดภัย กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าแชร์ไอเดียและไม่รู้สึกว่าโดนบูลลี่ หรือถูกปฏิเสธ

การรับฟัง การเปิดพื้นที่ให้ได้แสดงออก จะเอื้อให้บรรยากาศของความกริบ ที่เกิดจากความกลัวลดลง และเป็นการเพิ่มความกล้าเข้ามาแทนที่ทีละนิดได้นั่นเอง

Author

ผศ.ดร.จิตรา ดุษฏีเมธา
อาจารย์มหาวิทยาลัย
นักจิตวิทยา
Senior Action Learning Coach
TPS Master Facilitator

Artwork: Jutha.J


บทความที่เกี่ยวข้อง
4 วิธีดูแลสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน
แม้สุขภาพจิตของพนักงานจะเป็นปัจจัยที่สำคัญแต่ยังมีหลายองค์กรที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างเพียงพอ ปัญหาความเครียด การหมดไฟในการทำงาน และภาวะซึมเศร้า กำลังกลายเป็นความท้าทายที่องค์กรต้องเผชิญ การให้การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตไม่เพียงช่วยให้พนักงานมีความสุขในการทำงานมากขึ้น แต่ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรโดยรวม ดังนั้น องค์กรควรพิจารณาแนวทางที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อดูแลสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน
31 ม.ค. 2025
ดูแลสุขภาพจิตของพนักงาน สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
การดูแลสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ของพนักงานไม่ใช่เพียงแค่การดูแล "คน" แต่เป็นการลงทุนที่ช่วยให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืนในทุกด้าน เมื่อพนักงานมีสุขภาพจิตและกายที่ดี องค์กรจะได้ทีมงานที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในระยะยาวขององค์กร
31 ม.ค. 2025
ขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ ให้ความต่างสร้างการเติบโต
เมื่อพูดถึงความขัดแย้ง คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะหลีกเลี่ยง เพราะคิดว่าจะนำไปสู่ความไม่พอใจ แตกแยก หรือสูญเสีย แต่ในความเป็นจริง ความขัดแย้งไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้ายเสมอไป หากเราสามารถจัดการและใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างเหมาะสม ความขัดแย้งอาจกลายเป็นตัวกระตุ้นที่นำไปสู่การพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในทีมได้
31 ม.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy