แชร์

สร้างความรู้สึกปลอดภัยทางจิตวิทยา: เคล็ดลับเพื่อการประชุมที่มีประสิทธิภาพ

อัพเดทล่าสุด: 14 ส.ค. 2024
157 ผู้เข้าชม

สร้างความรู้สึกปลอดภัยทางจิตวิทยา: เคล็ดลับเพื่อการประชุมที่มีประสิทธิภาพ

ในแต่ละสัปดาห์คุณใช้เวลาไปกับการประชุมไปเท่าไหร่กันบ้างคะ และคิดว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมคุ้มค่ากับเวลาที่ลงทุนไปมากน้อยแค่ไหน


หากคุณรู้สึกว่าการประชุมในทีมของคุณยังไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร แม้ว่าจะได้วางโครงสร้างการประชุมไว้อย่างดีแล้ว อาจถึงเวลาที่ต้องกลับมาพิจารณาดูในมุมของ "ความรู้สึกปลอดภัยทางจิตวิทยา" ของผู้เข้าร่วมประชุมกันดูบ้าง


ความรู้สึกปลอดภัยทางจิตวิทยาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี และการมีส่วนร่วมที่เต็มเปี่ยม หากบรรยากาศในที่ประชุมเต็มไปด้วยการมีส่วนร่วม ข้อโต้แย้งที่สร้างสรรค์ และการค้นหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ นั่นเป็นสัญญาณที่ดีว่าทีมของคุณมีความรู้สึกปลอดภัยทางจิตวิทยา


แต่ถ้าการประชุมของคุณเต็มไปด้วยความตึงเครียด บรรยากาศที่อึดอัด และผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าควรให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้สึกปลอดภัยทางจิตวิทยาในทีมมากขึ้น


การสร้างความรู้สึกปลอดภัยทางจิตวิทยาในการประชุมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่สมาชิกในทีมกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าถาม กล้ารับความเสี่ยง และร่วมมือกันสร้างผลลัพธ์ในงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้นำการประชุมมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่


6 เคล็ดลับสำหรับผู้นำ ในการส่งเสริมความรู้สึกปลอดภัยทางจิตวิทยาในการประชุม มีดังนี้


1.กำหนดกฎกติกา หรือข้อตกลงร่วมกัน
การกำหนดกฎกติกาในการประชุมร่วมกัน โดยใช้สมรรถนะที่ส่งเสริมการประชุมอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การฟังอย่างตั้งใจ การเคารพซึ่งกันและกัน การสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ และการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง จะช่วยกำหนดความคาดหวังของผู้เข้าร่วมประชุม ส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเปิดกว้างสำหรับทุกคน


2. ฟังอย่างตั้งใจ
การฟังอย่างตั้งใจเป็นทักษะสำคัญในการประชุม นอกจากการจับประเด็นสำคัญและการถามคำถามแล้ว การแสดงออกถึงความใส่ใจผ่านภาษากาย เช่น การสบตา การพยักหน้าเพื่อแสดงความเข้าใจ จะช่วยสร้างความรู้สึกว่าความคิดเห็นของสมาชิกในทีมได้รับความสำคัญ และส่งเสริมการสนทนาที่มีความหมายมากขึ้น


3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม
ในสถานการณ์ที่สมาชิกบางคนครอบครองการสนทนามากเกินไป อาจส่งผลให้สมาชิกคนอื่นไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ผู้นำประชุมสามารถใช้เทคนิคเช่น การแบ่งเวลาให้ทุกคนได้พูด หรือการตั้งคำถามเพื่อเชิญชวนให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วม วิธีนี้จะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม และมั่นใจว่าเสียงของทุกคนได้รับการรับฟัง


4. ส่งเสริมการเรียนรู้จากความผิดพลาด
เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ให้เน้นที่การเรียนรู้และการพัฒนามากกว่าการตำหนิ หากมีเวลา ควรเชิญชวนทีมแบ่งปันประสบการณ์และวิธีการก้าวข้ามความท้าทาย วิธีนี้จะช่วยให้สมาชิกในทีมรู้สึกสบายใจในการรับความเสี่ยง และกล้าแสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนวคิดใหม่ ๆ


5. นำการสนทนาที่เปิดเผยและตรงไปตรงมาอย่างสร้างสรรค์
การสนับสนุนการสนทนาที่เปิดเผยและตรงไปตรงมาจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา ผู้นำประชุมควรถามคำถามที่เปิดกว้างและเชิญชวนให้สมาชิกแสดงมุมมองที่หลากหลาย และเน้นว่าการไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ หากมีความขัดแย้ง ควรไกล่เกลี่ยด้วยความเห็นอกเห็นใจและมุ่งเน้นที่การหาจุดร่วม เพื่อเรียนรู้และแก้ปัญหาร่วมกัน


6.แสดงความขอบคุณอย่างจริงใจ
การแสดงความขอบคุณสำหรับการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็น ผลลัพธ์ในงาน หรือความพยายามในการช่วยเหลือ จะช่วยเสริมสร้างความรู้สึกปลอดภัยและความเป็นส่วนหนึ่งของทีม การแสดงความขอบคุณอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมชาติจะกระตุ้นให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นมากขึ้น


ลองนำเคล็ดลับทั้ง 6 ข้อไปปรับใช้ในการประชุมครั้งถัดไป เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สมาชิกในทีมรู้สึกปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นและร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในการประชุมที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกันนะคะ


Author
ยุ่ง ศริยา ประวงษ์
People & Culture Transformation Consultant
Action Learning Coach
Team Psychological Safety Facilitator


Artwork
ภัทรมน วงศ์สังข์


#theartofchange
#teampsychologicalsafety
#highperformingteam
#theartofchange
#wetreasureSUSTAINABLEGROWTHthroughPEOPLE


บทความที่เกี่ยวข้อง
4 วิธีดูแลสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน
แม้สุขภาพจิตของพนักงานจะเป็นปัจจัยที่สำคัญแต่ยังมีหลายองค์กรที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างเพียงพอ ปัญหาความเครียด การหมดไฟในการทำงาน และภาวะซึมเศร้า กำลังกลายเป็นความท้าทายที่องค์กรต้องเผชิญ การให้การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตไม่เพียงช่วยให้พนักงานมีความสุขในการทำงานมากขึ้น แต่ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรโดยรวม ดังนั้น องค์กรควรพิจารณาแนวทางที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อดูแลสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน
31 ม.ค. 2025
ดูแลสุขภาพจิตของพนักงาน สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
การดูแลสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ของพนักงานไม่ใช่เพียงแค่การดูแล "คน" แต่เป็นการลงทุนที่ช่วยให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืนในทุกด้าน เมื่อพนักงานมีสุขภาพจิตและกายที่ดี องค์กรจะได้ทีมงานที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในระยะยาวขององค์กร
31 ม.ค. 2025
ขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ ให้ความต่างสร้างการเติบโต
เมื่อพูดถึงความขัดแย้ง คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะหลีกเลี่ยง เพราะคิดว่าจะนำไปสู่ความไม่พอใจ แตกแยก หรือสูญเสีย แต่ในความเป็นจริง ความขัดแย้งไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้ายเสมอไป หากเราสามารถจัดการและใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างเหมาะสม ความขัดแย้งอาจกลายเป็นตัวกระตุ้นที่นำไปสู่การพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในทีมได้
31 ม.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy