แชร์

พูดหรือไม่พูดดีนะ

อัพเดทล่าสุด: 2 ก.ค. 2024
29 ผู้เข้าชม
พูดหรือไม่พูดดีนะ

พูดหรือไม่พูดดีนะ

ในโลกการทำงานยุคปัจจุบัน องค์กรต้องการพนักงานที่กล้าคิดสร้างสรรค์ กล้านำเสนอความคิดใหม่ๆ กล้าสร้างนวัตกรรมต่างๆ หรือ มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในองค์กรส่วนใหญ่ พนักงานหลายคนเลือกที่จะอยู่ในพื้นที่เดิมที่คุ้นชิน (Comfort Zone) มากกว่าที่จะพูดความคิดสดใหม่ออกไป
การที่คนคนหนึ่งจะ กล้าพอ ที่จะพูดอะไรออกมา ที่เขาเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทีม ถือเป็น ความเสี่ยง ชนิดหนึ่ง

#เสี่ยงว่า สิ่งที่พูดออกไปจะได้รับการตอบรับ หรือการเมินเฉย

#เสี่ยงว่า หากพูดไปแล้วความคิดนั้นจะดูโง่ดูเขลาจนถูกหัวเราะเยาะ หรือจะได้รับการสรรเสริญ การยกย่อง จากผู้ที่นั่งฟัง

#เสี่ยงว่า หัวหน้าจะปฏิเสธ คนในทีมจะวิจารณ์ หรือหัวหน้าจะชอบความคิดนั้นมาก คนในทีมจะทึ่ง ชื่นชมในความคิดใหม่ๆ นั้น

ความเสี่ยงแบบนี้ จะยิ่งลุ้นระทึกมากขึ้น หากบรรยากาศในทีมมีแนวโน้มที่จะเลือกข้าง ถ้าความคิดที่พูดนั้นโดน ก็เกิดไปเลย ถ้าความคิดที่พูดนั้นไม่โดน ก็ฝังกลบไปเลย

บรรยากาศ 50/50 เช่นนี้ จึงทำให้คนเลือกที่จะไม่พูด ไม่เสนอ ไม่สนองอะไร อยู่นิ่งๆ น่าจะปลอดภัยกว่า ไม่เจ็บตัว
คนที่เลือกที่จะนิ่ง ไม่พูด ไม่เสนอ ขอเป็นผู้ฟัง ขออยู่ในพื้นที่ปลอดภัย สบายใจที่สุด เป็นเพราะเขารู้สึกว่า เขาได้ประโยชน์ทันทีจากการปฏิบัติตนเช่นนั้น แม้จะไม่เกิด ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ไม่ต้องเจ็บตัวไม่ต้องถูกหมายหัว หากความคิดที่เขานำเสนอนั้น ไม่ได้รับการตอบสนองจากทีม การเลือกที่จะไม่พูด การไม่แตกแถว การเป็นผู้ตาม น่าจะเป็นคำตอบที่ดีกว่า ทำให้ประคองตนอยู่ต่อได้ ไม่โดดเด่นไม่เป็นไร ต้วมเตี้ยมบ้าง ถูกบ่นบ้าง แต่ก็ยังคงปลอดภัยมากกว่า เมื่ออยู่ใน Safe Zone

สิ่งที่จะทำให้พนักงาน #กล้าเสี่ยง ที่จะพูด เสนอ ออกความคิดใหม่ๆ ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่สิ่งแวดล้อม และผู้คนรอบข้าง โดยเฉพาะคนในทีม ต้องให้ความมั่นใจกับตัวเขาพอ จนเขาเชื่อว่า ความคิดของเขา จะได้รับการรับฟัง และการยอมรับจากทีม จะไม่มีใครที่จะดูแคลนความคิดของเขา และพร้อมรับความเห็นที่แตกต่าง เพราะเชื่อว่า ความต่าง ทำให้เกิดการผลิความคิดใหม่ที่สร้างการเติบโตขึ้นมาได้ หากพนักงานเกิดความเชื่อเช่นนี้กับทีม เขาจะมีแนวโน้มของการเลือกที่จะพูด มากกว่าจะไม่พูด เพราะเขารู้ว่า สิ่งที่เขากล้าเสี่ยงนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อทีม และต่อองค์กรในทางใดทางหนึ่ง หรือ สามารถจุดประกายการต่อยอดทางความคิดกับทีมงานได้ ยิ่งบรรยากาศของทีมเอื้อให้สมาชิกกล้าแสดงความเห็น ความคิด มุมมองใหม่ๆ มากเท่าใด จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และส่งเสริมให้พนักงานทำงานได้อย่างสนุก มีความสุขมากขึ้น
ทว่า ..... หากเสี่ยงแล้ว มีประสบการณ์ลบ เกิดรอยแผลเหวอะหวะกลับมา ครั้งเดียวก็อาจจะเกินพอ ไม่ขอเสี่ยงอีกในครั้งถัดไป เพราะสิ่งที่ตั้งใจ กับผลลัพธ์ที่ได้ มันได้ไม่คุ้มเสีย และอาจส่งผลต่อคนอื่นๆ ที่ได้เห็น เกิดอาการแหยง ไม่เอาดีกว่า ไม่พูดดีกว่า ความ #กล้าเสี่ยง จึงอาจกลายเป็นความ กลัวเสี่ยง ไปได้ในที่สุด

 Author


ผศ.ดร.จิตรา ดุษฏีเมธา
อาจารย์มหาวิทยาลัย
นักจิตวิทยา
Senior Action Learning Coach
TPS Master Facilitator
#teampsychologicalsafety
#highperformingteam
#theartofchange
#wetreasureSUSTAINABLEGROWTHthroughPEOPLE

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy