share

How to "ทิ้งดิ่ง" ให้เวลาตัวเองได้ "นิ่ง" เพื่อก้าวต่อ

Last updated: 3 Sep 2024
14 Views
How to "ทิ้งดิ่ง" ให้เวลาตัวเองได้ "นิ่ง" เพื่อก้าวต่อ

มีบางจังหวะของชีวิตคนเรา ที่ไม่อยากทำอะไรเลย อยากปล่อยตัวเอง ให้ว่างๆ โดยไม่คิดอะไร ไม่ทำอะไร แค่เพียงตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกขี้เกียจ รู้สึกอยากนอน อยากนั่ง แบบปล่อยเวลาไปเรื่อยๆ
.


พฤติกรรมที่ปรากฏ เช่น นอนบนเตียง นอนบนโซฟา ไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร พลิกตัวไปมา แบบไม่มีจุดหมาย เปิดมือถือ ดูอะไรไปเรื่อยๆ ไม่มีหัวข้อแน่นอนว่า ต้องการดูเรื่องใด หรือเปิดทีวี ดูแบบตาลอยๆ เปลี่ยนช่องไปเรื่อยๆ ไม่ได้สนใจดูมากมายนัก แต่... ยังไม่ถึงขั้นที่นอนเหงา นอนเศร้า รู้สึกท้อแท้ รู้สึกแย่ จนร้องไห้ฟูมฟาย คิดมาก คิดฟุ้งซ่าน ยังไปไม่ถึงขีดเส้นสีแดงขนาดนั้น
.


มันเกิดอะไรขึ้นกับตัวเรา ที่อยู่ๆ อยากทิ้งดิ่ง.... ทำตัวว่างๆ อยู่เฉย ไม่อยากลุก ไม่อยากทำอะไร
ยิ่งคนที่รู้สึกว่า เวลาทุกเวลาเป็นสิ่งที่มีค่า หากพฤติกรรมเช่นนี้เกิดขึ้น อาจจะรู้สึกประหลาดใจ สงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นกับตนเองกันแน่นี่
.


ทุกพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ย่อมมีความหมาย มีอะไรที่ซ่อนอยู่ แฝงอยู่เสมอ หากเพียงเราสังเกต ใคร่ครวญ และทบทวน เพราะนั้นอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกอะไรกับเราสักอย่างกับร่างกายและจิตใจ
.


พฤติกรรมทิ้งดิ่ง ของคนๆ หนึ่ง อาจมีความหมายสะท้อนออกมาได้หลายมิติ
เป็นไปได้ไหมว่า... ในช่วงเวลาก่อนหน้า มีหลายสิ่งอย่างที่ต้องทำติดต่อกันมาหลายอย่าง เป็นระยะเวลายาวและต่อเนื่อง แล้วยังมีภาระกิจพิเศษอื่นๆ ที่ต้องดูแล รวมถึงงานกิจวัตรที่ต้องทำ เชิงตัวเป็นเกลียว หัวเป็นน็อต แทบไม่ได้หลับ ไม่ได้นอน
.


การทิ้งดิ่ง หลังวันที่งานสำเร็จ จบโครงการ จบโปรเจค ภาะกิจพิเศษ สิ้นสุด เนื่องจากร่างกายส่งสัญญาณเตือนว่า ต้องพักร่าง ให้ผ่อนคลายจากความล้า ความเครียดที่ต่อเนื่องมานาน หากได้พักจนร่างกายฟื้น พลังคืนกลับมา ย่อมมีแรงพร้อมกลับไปทำงาน ทำหน้าที่ต่อได้
.


เป็นไปได้ไหมว่า... ในช่วงเวลาก่อนหน้า ชีวิตในแต่ละวัน เป็นชีวิตที่ทำอะไรในรูปแบบเดิมๆ มาโดยตลอด เหมือนเครื่องจักร ที่อยู่กับความเคยชินและจำเจแบบเดิมๆ
.


การทิ้งดิ่ง จึงอาจเป็นสัญญาณของความต้องการหยุดความจำเจไปสู่การปฎิวัติตนเอง ให้หาสิ่งใหม่ๆ ทำ เพื่อให้ชีวิตมีชีวา มีอารมณ์ความรู้สึกบ้าง หากรู้เท่าทัน เพียงลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ ออกจากพื้นที่ปลอดภัย (Comfort Zone) ที่จำเจมานาน พาตนเองออกไปเปิดโลก ไปเจอสิ่งใหม่ๆ ผู้คนใหม่ๆ ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ชีวิตจะเปลี่ยนจากความจืดชืดให้กลับมามีรสชาติชีวิตอีกครั้ง
.


เป็นไปได้ไหมว่า... ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เกิดความคิดฟุ้ง อยากทำโน่น อยากทำนั่น อยากทำนี่ เพื่อให้ชีวิตตนเองดีขึ้น มีคุณค่าขึ้น แต่ผลงานที่เกิดขึ้น ยังไม่มีความชัดเจน ทำไม่สุด ทำยังไม่เสร็จ ไม่เห็นเป็นรูปธรรมสักที เรียกว่า ความอยาก ความคาดหวัง ความฝัน กับการกระทำนั้น ก้าวได้ไม่ทันกัน
.


การปล่อยตัวทิ้งดิ่ง อาจมีความหมายว่า ต้องการให้สิ่งที่คิดกับสิ่งที่ทำ เดินก้าวไปพร้อมๆ กัน รอๆ กันหน่อย เราจึงควรใช้ช่วงเวลาที่ทิ้งดิ่ง พักเพื่อทบทวน ไตร่ตรอง ว่าความคิด ความอยากของเรามีความฟุ้งมากเกินไปขนาดไหน และความสามารถ ทักษะ ศักยภาพของเรา สามารถทำให้เกิดขึ้นได้เท่าที่เราอยากให้เป็นหรือไม่ สิ่งที่คิดกับระยะเวลาที่ทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ขึ้นได้จริง จะต้องใช้เวลาสักเท่าใด การมีเวลาได้จัดระบบความคิดของตนเอง กลับมาอยู่ในโลกความจริง เรียงลำดับความสำคัญ ว่าสิ่งใดควรทำก่อนหลัง อะไรที่ต้องสะสาง อะไรที่ทำค้างไว้อยู่ และต้องใช้เวลาทำต่ออีกนานเท่าใด เพื่อทำให้เสร็จและสำเร็จ อะไรที่เป็นเพียงความฝันลมๆ แล้งๆ เพ้อๆ ลอยๆ คิดไปเสียเวลาเปล่า จะได้ตัดออกไป จะทำให้ความคิด ความคาดหวัง กับการกระทำ เริ่มทำงานไปด้วยกันได้
.


จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อธิบายถึง ความหมายที่ซ่อนอยู่ในพฤติกรรมการทิ้งดิ่ง เพื่อให้รู้ว่า พฤติกรรมดังกล่าว คือการส่งสัญญาณของสภาวะจิต สภาวะกาย ที่ต้องการสื่อสารข้อมูลอะไรบางอย่างกับเรา
.


อย่างน้อย จุดร่วมที่เหมือนกันของพฤติกรรมการ ทิ้งดิ่ง คือ การปล่อยให้ตนเองนั้น อยู่นิ่งๆ จงใช้ ความนิ่ง หาความหมาย หาคำตอบ ด้วยการ ใคร่ครวญ ทบทวนตนเอง จง ให้ เวลากับ ตัวเอง บ้าง หาเวลา เพื่อ ตนเองบ้าง อย่า ลืมตัว ด้วยการ เผลอคิด เผลอทำ แบบสุดตัว สุดโต่ง หรืออยู่กับการจำเจ เคยชิน จนร่างกายและจิตใจต้องออกมาปฏิวัติด้วยการทิ้งดิ่ง
การค้นหาความหมายที่ซ่อนอยู่เจอ จะทำให้เราได้คำตอบว่า สิ่งใดบ้างที่เราควรเปลี่ยนแปลง เพื่อให้อาการทิ้งดิ่งหายไป เพื่อความคิด ความรู้สึก การกระทำที่ดีอื่นๆ จะได้เข้ามาแทนที่แทน


Author
ผศ.ดร.จิตรา ดุษฏีเมธา
อาจารย์มหาวิทยาลัย
นักจิตวิทยา
Senior Action Learning Coach
TPS Master Facilitator


Artwork
ภัทรมน วงศ์สังข์


#teampsychologicalsafety
#highperformingteam
#theartofchange
#wetreasuresustainablegrowththroughpeople

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy