ความสำเร็จเป็นสิ่งที่คนทำงานทุกคนปรารถนาในการทำงานและการใช้ชีวิต อย่างไรก็ตาม ในทุกความสำเร็จย่อมมีปัญหาและอุปสรรคที่รั้งเราไว้ก่อนถึงเส้นชัยเสมอ ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน
โทนี ร๊อบบินส์ นักสร้างแรงบันดาลใจ นำเสนอความคิดว่า สิ่งที่รั้งความสำเร็จของคนเราไว้ที่เกิดจากปัจจัยภายใน มีด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่
[1] การมองปัญหาเป็นเรื่องถาวร
ปัญหาเป็นสิ่งที่ไม่คงอยู่ตลอดไป เมื่อปัญหาที่หนึ่งหมด ปัญหาที่สองอาจจะตามมา เป็นระลอก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปัญหาที่เผชิญอยู่ มันฝังตัวอยู่ที่เดิมไม่ขยับไปไหน ความคิดของเราต่างหากที่บอกตัวเองว่าปัญหานั้นไม่จบไม่สิ้น ทั้งที่จริง ปัญหาเปรียบเหมือนคลื่นทะเลที่มาเป็นระลอก คลื่นต่ำบ้าง สูงบ้าง สงบบ้าง หากเรายังสถิตย์ยึดโยงกับปัญหานั้น ไม่ปล่อยตัวเองจากการวิ่งวนกับคำว่า ปัญหายังคงอยู่ตลอดเวลา ด้วยความคิดที่ว่า ...
"ทำไมมีแต่ปัญหา ไม่จบไม่สิ้นเสียที"
"อะไรกันนี่..มีปัญหาอยู่ตลอดเวลาเลย"
"เอาอีกแล้ว..เป็นแบบนี้อีกแล้ว"
"ไม่มีทางจะทำอะไรได้เลยกับปัญหานี้ มันแก้ไม่ได้หรอก มันแก้ไม่ได้อย่างแน่นอน"
การใช้คำพูดลักษณะนี้บ่อย ๆ จะทำให้ การรับรู้ ที่มีต่อปัญหา มองว่าปัญหายังคงอยู่ที่เดิม ทั้งที่จริง ๆ แล้ว โจทย์ปัญหาอาจจะเปลี่ยน ปัญหาเก่าแก้ไปแล้ว มีปัญหาใหม่เข้ามาต่างหาก
ถ้าเพียงเราปรับความคิดใหม่ ขณะที่กำลังแก้ปัญหาว่า จบไปแล้วหนึ่งเรื่อง เดี๋ยวว่ากันใหม่ ตอนนี้ปัญหามันประดังเข้ามาหลายทางมาก ต้องเรียกประชุมมาคุยกันว่าปัญหาแท้จริงอยู่ตรงไหนจะได้แก้ไขหรือป้องกันได้ การเปลี่ยนความคิดแบบใหม่นี้จะทำให้เราตระหนักรู้ว่าปัญหามีมา ก็มีไป มาเยอะบ้าง น้อยบ้าง เป็นช่วง ๆ ไป
[2] การขยายปัญหาที่มีอยู่ให้ใหญ่ขึ้น
การ 'เล่นใหญ่' กับปัญหา ด้วยการจินตนาการฟุ้งต่อไปเรื่อยในทางลบว่า 'เดี๋ยวจะเกิดปัญหาอื่นตามมาอีก' เป็นการขยายปัญหาที่มีอยู่ให้ใหญ่ขึ้น ความคิดเช่นนี้จะเป็นความคิดวิตกจริต กังวลจนคิดมาก จึงคิดหาปัญหามาต่อ หาปัญหามาเพิ่ม เติมปัญหาไปเรื่อย ๆ กระพือให้ปัญหาดูยาก ดูใหญ่ ด้วยคำพูดลอย ๆ คิดลบไปก่อนว่า ...
"แย่แล้ว ตายแล้ว สงสัย มันต้องเกิด ....(ปัญหาอื่นๆ) ... ตามมาอีกแน่ ๆ"
"ของเก่ายังแก้ไม่ได้ มาเจอของใหม่อีก นี่เดี๋ยวคงจะมี... เพิ่มมาอีก"
"หัวหน้าต้องเอาตายแน่ ถ้ารู้ขึ้นมาโดนกันยกแผงไม่ได้ผุดได้เกิดกันแน่ จะโดนเรียกพบหรือให้ออกหรือเปล่าก็ไม่รู้"
"เกิดแก้ไม่ได้ ลูกค้าเอาตายแน่ โปรเจคนี้พังแน่ ๆ แล้วลูกค้าที่อยู่คงมาเลิกสัญญากับหมด รายใหม่ทีมีก็คงไม่เอาด้วยแน่ สงสัยงานนี้ต้องปิดบริษัทแน่เลย"
การขยายปัญหาที่อยู่ให้ใหญ่ขึ้นเป็นการมองสิ่งลบในสิ่งลบ เสียเวลากับการมองแต่ปัญหา ปัญหา ปัญหา จนลืมคิดว่าสิ่งที่ควรทำคือรีบหาทางออก หาหนทางแก้ไข ซึ่งจะต่างจากคนที่มีความรอบคอบ พวกเขาจะคาดการณ์ฉากทัศน์ด้านลบหรืออุปสรรคปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จากปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อนำไปวางแผนหากลยุทธที่จะนำมาใช้อุดรอยรั่วที่เกิดขึ้น คนกลุ่มนี้จะมองหาทางแก้ไขและแนวทางในการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น โดยไม่ตะหนกตกใจจนสร้างสถานการณ์แบบสะเปะสะปะ ฟุ้งไปเรื่อย
[3] ความคิดต่อว่า ด้อยค่าตัวเอง
ศึกภายนอกไม่เท่ากับศึกภายใน และศึกภายในที่สำคัญเมื่อเจอกับปัญหา คือ ความคิดของตัวเราที่มีต่อตัวเราเอง คนที่ด้อยค่าต่อว่าตัวเองอยู่บ่อย ๆ จะมองข้ามศักยภาพและความสามารถที่มีอยู่ในตัว ความคิดที่มักผุดขึ้นมาในหัวสมองบ่อย ๆ ได้แก่..
"ฉันไม่เก่ง ฉันสู้คนอื่นไม่ได้"
"ฉันไม่รู้จะแก้อย่างไร"
"ฉันคงทำอะไรไม่ได้"
"ฉันไม่สามารถจะทำอะไรได้"
"ฉันเป็นตัวถ่วงคนอื่นไหมนี่"
"คนอื่นเก่ง ๆ ทั้งนั้น เราหัวช้า สมาธิสั้น ชอบทำอะไรสะเพร่า ทำผิดเสมอเลย"
เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นมา ก็มักพูดติดปากว่า "ขอโทษ...ฉันผิดเอง ฉันไม่ได้เรื่องเอง"
ความคิดเช่นนี้บั่นทอนศักยภาพภายในตนเองอย่างมาก
สิ่งที่ควรฝึกตนเอง คือ มองหาข้อดีในตนเอง สิ่งที่ตนเองทำได้ในแต่ละวัน และเรียนรู้ว่ามีสิ่งใดบ้างที่เป็นจุดเด่นของเรา ลดการตอกย้ำตนเองให้ลดลง ปรับความคิดใหม่เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ ว่า
"ค่อย ๆ ทำไป"
"ค่อย ๆ เรียนรู้ไป"
"ดีขึ้นแล้วกว่าเมื่อวานนี้..ถ้าได้ทำไปเรื่อย ๆ ก็จะดีขึ้น"
"น่าจะไหวนะ ลองทำดูก่อน ถ้าไม่รู้ก็ถามเอา ถ้าเกิดทำผิดขึ้นมาจริง ๆ ก็ยอมรับและเรียนรู้ว่า เกิดอะไรขึ้น"
การฝึกพูดประโยคเหล่านี้ซ้ำ ๆ อยู่บ่อย ๆ จะเริ่มทำให้เราเริ่มมองตนเองว่า เราก็มีดีอยู่นะ เป็นการช่วยเพิ่มการรับรู้ความสามารถในตนเอง และทำให้เกิดความมั่นใจในตนเองมากขึ้นด้วย
ฝึกปรับวิธีคิดตนเองอยู่บ่อย ๆ ในการใช้ชีวิต เพราะพลังของความคิดนั้นส่งผลต่อการกระทำ ที่จะพาเราไปสู่ความสำเร็จ หรือ เกือบจะสำเร็จได้
---
Author
ผศ.ดร.จิตรา ดุษฏีเมธา
อาจารย์มหาวิทยาลัย
นักจิตวิทยา
Senior Action Learning Coach
TPS Master Facilitator
Artwork
จุฑามาศ ใจสมัคร