เรื่อง Work-Life Imbalance หรือความไม่สมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว มักถูกมองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้คนทำงานเกิดความเหนื่อยล้า ไม่มีความสุข และอาการเครียดสะสม
แต่แท้จริงแล้ว จากประสบการณ์ตรงที่เราได้เข้าไปมีส่วนในการแก้ไข กลับพบว่าสาเหตุที่ลึกกว่านั้นอาจมาจากการทำงานเป็นทีมที่ไม่มีประสิทธิภาพ (1) และการขาดความปลอดภัยทางจิตวิทยาในทีม (Team Psychological Safety) ซึ่งหมายความว่า 'ความพยายามในการเข้าไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุโดยเน้นเพียงการปรับสมดุลเวลาการทำงานและการใช้ชีวิต ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง'
[หมายเหตุ (1) - เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่เป็นไปได้ของเรื่อง Work-life Imbalance แต่ยังมีสาเหตุอื่นได้อีก แล้วแต่ Context ของแต่ละทีมในแต่ละองค์กร]
ปัญหาที่แท้จริง: การทำงานเป็นทีมที่ไม่มีประสิทธิภาพ
บางครั้งพนักงานมักรู้สึกว่ามีงานมากเกินไปหรือไม่มีเวลาเพียงพอ เป็นเพราะทีมไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อการสื่อสารและการทำงานร่วมกันภายในทีมไม่ราบรื่น งานก็จะล่าช้า ทำให้พนักงานต้องทำงานเกินเวลาปกติ หรือแม้กระทั่งทำงานในวันหยุด ส่งผลให้เกิดความเครียดและความรู้สึกว่าชีวิตการทำงานไม่สมดุล
ตัวอย่างเช่น หากทีมไม่มีการกำหนดบทบาทที่ชัดเจน หรือล้มเหลวในการปรับเป้าหมายการทำงานให้ตรงกัน พนักงานอาจใช้เวลาทำงานซ้ำซ้อนหรือทำงานที่ไม่จำเป็น ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เพราะภาระงานที่มากเกินไปโดยตรง
บทบาทของความปลอดภัยทางจิตวิทยาในทีม (Team Psychological Safety)
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ทีมทำงานไม่มีประสิทธิภาพ คือ การขาดความปลอดภัยทางจิตวิทยาในทีม ซึ่งหมายถึง บรรยากาศที่สมาชิกในทีมรู้สึกปลอดภัยในการแสดงความเห็น การยอมรับข้อผิดพลาด และการพูดคุยกันอย่างเปิดเผยโดยไม่กลัวว่าจะถูกลงโทษหรือถูกมองว่าไม่ดีพอ
เมื่อทีมขาดความปลอดภัยทางจิตวิทยา พนักงานจะไม่กล้าแสดงความเห็นหรือขอความช่วยเหลือเมื่อพวกเขาเผชิญกับงานหนัก หรือไม่กล้ายกเรื่องการทำงานที่อึดอัดใจขึ้นมาพูดเพื่อหาทางออกร่วมกัน เนื่องจากเกรงจะกระทบกับความสัมพันธ์กับคนอื่นในทีม ทำให้ปัญหาสะสมไม่ได้รับการแก้ไข
ในทีมที่มีความปลอดภัยทางจิตวิทยาสูง พนักงานจะเปิดใจแบ่งปันความท้าทายและขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมทีม การทำงานร่วมกันจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้สมาชิกในทีมสามารถช่วยเหลือกันและลดความเครียดจากการทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่
บทบาทของผู้นำในการแก้ไขปัญหา
ผู้นำทีมไม่ควรแก้ปัญหา Work-Life Balance ด้วยการกำหนดนโยบาย เช่น การทำงานจากที่บ้าน หรือการให้เวลาทำงานยืดหยุ่นเพียงอย่างเดียว เพราะนั่นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
สิ่งที่ผู้นำควรทำ คือ การสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพ และบรรยากาศการทำงานที่สนับสนุนให้ทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้อย่างปลอดภัย ซึ่งผู้นำสามารถทำได้ผ่านการสื่อสารที่ชัดเจน การตั้งเป้าหมายร่วมกัน และการสนับสนุนให้ทีมพูดคุยกันอย่างเปิดเผย
การตรวจสอบและเข้าใจภาระงานของแต่ละคน การส่งเสริมให้ทีมร่วมกันกำหนดกระบวนการทำงานและการจัดการปัญหาความขัดแย้งอย่างรวดเร็ว จะช่วยลดความเครียดและสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีขึ้น
และจากประสบการณ์ตรงที่ได้รับจากการทำงานร่วมกับทีมจริงเพื่อแก้ไขปัญหานี้ สมาชิกในทีมต่างเห็นตรงกันเมื่อสิ้นสุดกระบวนการว่า 'ปัญหาไม่ได้อยู่ที่จำนวนชั่วโมงหรือเวลา แต่ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่วิธีการทำงานของทีม !!'
นั่นหมายความว่า 'ปัญหา Work-Life Balance' มักเป็นผลสะท้อนของปัญหาที่ลึกกว่านั้น หากต้องการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เราต้องค้นลงไปให้เจอปัญหาที่แท้จริงของทีมนั้น ๆ และในกรณีของทีมตัวอย่างด้านบน ผู้นำได้กลับมาปรับปรุงทีมให้มีประสิทธิภาพและบรรยากาศการทำงานที่ปลอดภัย เมื่อทีมทำงานได้ดีและพูดคุยกันได้อย่างเปิดเผย ความสมดุลในชีวิตการทำงานจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ
ขอให้มีความสุขและสนุกกับการปั้น High-performing Team ไปด้วยกันนะคะ
---
Author
โค้ชติ๊ก นิธิพร ไตรทิพเทวินทร์
Certified Master Facilitator Team Psychological Safety
WIAL Professional Action Learning Coach
Artwork
จุฑามาศ ใจสมัคร
#theartofchange
#teampsychologicalsafety
#highperformingteams
#wetreasureSUSTAINABLEGROWTHthroughPEOPLE