แชร์

Trust และ Psychological Safety: ฟังเหมือนคล้าย แต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

อัพเดทล่าสุด: 26 ส.ค. 2024
15 ผู้เข้าชม
 Trust และ Psychological Safety: ฟังเหมือนคล้าย แต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

การทำงานเป็นทีมให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการ หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญคือความปลอดภัยทางจิตวิทยา (Psychological Safety) ซึ่งหลายครั้งมักจะถูกเอาไปตีความว่าหมายถึง ความไว้วางใจ (Trust) ของสมาชิกในทีม ทั้งสองแนวคิดนี้มีความสัมพันธ์กัน แต่ไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง การเข้าใจความแตกต่างและความสัมพันธ์ระหว่าง Trust และ Psychological Safety จะช่วยให้ผู้นำสามารถสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ความไว้วางใจ (Trust) 

Trust หรือความไว้วางใจใน หมายถึง การเชื่อว่าเพื่อนร่วมทีมจะทำงานอย่างซื่อสัตย์ มีความสามารถ และจะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ความไว้วางใจคือการมอบประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับคนที่เราไว้วางใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากการมีความสัมพันธ์ที่ดี การรักษาคำพูด และการความโปร่งใสในการกระทำ

ความปลอดภัยทางจิตวิทยา (Psychological Safety) 

Psychological Safety หรือความปลอดภัยทางจิตวิทยา หมายถึง สภาวะที่สมาชิกในทีมรู้สึกว่าสามารถแสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม หรือทำอะไรได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ หรือลงโทษอย่างรุนแรง ความปลอดภัยทางจิตวิทยาจึงคือการที่เราได้รับประโยชน์เมื่อทำสิ่งที่คนอื่นอาจเกิดข้อสงสัยในตัวเรา

ความไว้วางใจ (Trust) จึงเป็น #ความรู้สึกที่เรามีต่อผู้อื่น #ความเชื่อมั่นที่เรามีในตัวผู้อื่น 

ในขณะที่ความปลอดภัยทางจิตวิทยา (Psychological Safety) คือ #ความรู้สึกว่ามันปลอดภัยที่เราจะทำหรือแสดงอะไรออกไป

ความสัมพันธ์ระหว่าง Trust และ Psychological Safety

ความไว้วางใจ (Trust) ของคนในทีมเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาความปลอดภัยทางจิตวิทยา (Psychological Safety) เพราะหากเราไม่ไว้วางใจสมาชิกในทีมแล้วก็ยากที่จะทำให้เรากล้าพูดหรือแสดงออกในสิ่งที่อาจจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่น ๆ ในทีมได้ ความไว้วางใจจะทำให้สมาชิกรู้สึกที่ดีต่อกัน เชื่อมั่นในความสามารถและความซื่อสัตย์ของกันและกัน และมีโอกาสน้อยที่จะเกิดการแบ่งแยกหรือขัดแย้งส่วนตัว

แต่ในบางครั้ง ความไว้วางใจเพียงอย่างเดียวแต่ยังไม่มีความปลอดภัยทางจิตวิทยาในทีมก็ไม่สามารถสร้างผลงานหรือประสิทธิภาพที่ดีได้ ตัวอย่างเช่น ในการประชุมทีมที่มี Trust แต่ไม่มี Psychological Safety สมาชิกในทีมอาจเชื่อมั่นว่าการตัดสินใจของผู้นำถูกต้องเสมอ แต่พวกเขาอาจไม่กล้าแสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนวคิดอื่น ๆ เนื่องจากกลัวว่าจะถูกตำหนิหรือวิจารณ์ ส่งผลให้ขาดความคิดเห็นหรือมุมมองที่หลากหลายซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ 

หรือสมาชิกในทีมอาจไว้วางใจในความสามารถของเพื่อนร่วมทีม แต่ไม่กล้าพูดถึงข้อผิดพลาดหรือปัญหาในงานของเพื่อนร่วมทีมที่ตนได้พบ เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นการตำหนิหรือทำให้เพื่อนเสียหน้า ซึ่งหากมี Psychological Safety มากพอสมาชิกในทีมจะรู้สึกปลอดภัยที่จะพูดถึงปัญหาและช่วยกันแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องกังวลว่าจะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างกัน

กล่าวโดยสรุปได้ว่า การมีความไว้วางใจเพียงอย่างเดียวไม่ได้แปลว่าจะเกิดความปลอดภัยทางจิตวิทยาขึ้นแล้ว แต่การจะมีความปลอดภัยทางจิตวิทยาได้จำเป็นต้องมีความไว้วางใจเป็นพื้นฐาน 

ดังนั้นหน้าที่ของผู้นำคือการสร้างความไว้วางใจในขั้นต้น และใช้ความไว้วางใจเป็นฐานของการพัฒนาความปลอดภัยทางจิตวิทยาการของทีมในส่วนอื่นๆ ต่อไป

ขอให้มีความสุขและสนุกกับการปั้น High-performing Team ไปด้วยกันนะคะ


Author

โค้ชติ๊ก นิธิพร ไตรทิพเทวินทร์

Certified Master Facilitator Team Psychological Safety

WIAL Professional Action Learning Coach


#theartofchange

#teampsychologicalsafety

#highperformingteams

#wetreasureSUSTAINABLEGROWTHthroughPEOPLE

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy